หมายธรรมชาติ การตกปลาน้ำจืด ควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับปลา ?

สำหรับการตกปลาน้ำจืดในแบบต่างๆ นั้น จะแบ่งประเภทหลัก ออกมาได้ 2 ประเภทด้วยกันนั้นคือ ตามฟิชชิ่งปาร์ค(บ่อตกปลาต่างๆ ) และ ตามหมายธรรมชาติ ซึ่งหมายธรรมชาติในที่นี้ รวมไปถึง แม่น้ำ คูคลอง ธารน้ำ อ่างเก็บน้ำ ร่องนา ห้วยหนอง คลอง หรือ บึง ต่างๆ การที่จะตกปลาน้ำจืดในแต่ละครั้งนั้น ถือว่ามีการเตรียมตัวที่ค่อนข้างจะยุ่งยากอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้ง ในเรื่องของอุปกรณ์ ต่างๆ รวมไปถึง ตัวผู้ตกเอง การตกปลาน้ำจืดในแต่ละครั้งนั้นหากเปรียบเทียบกับปลาทะเลแล้วเรียกว่า ตกได้ยากกว่า กว่าจะตกได้ในแต่ละตัว ผู้ตกต้องมีความอดทนมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะตกในรูปแบบใด จะเหยื่อปลอม ตกปลาแบบหน้าดิน หรือแม้กระทั้งการตกปลาแบบใช้ทุ่นลอยก็ตาม

หมายตกปลาแบบง่ายๆ ที่อยู่ใกล้ตัวที่ผู้ตกนิยมไปตกกันก็ตาม คูคลอง หรือหนองน้ำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพหรือต่างจังหวัดบางทีเราก็อาจจะเห็นผู้ที่มีใจรักในการตกปลา ไปยืนตกปลากันตามเชิงสะพานต่างๆ ก็ยังมี หมายตกปลาในรูปแบบนี้มักจะพบจำพวกปลาเล็กๆ เช่น ปลาหมอ ปลาดุก ปลาช่อน ฯลฯ หรืออาจจะมีคนที่ชื่นชอบการตกปลาในเชิงเกมกีฬาบางท่านก็เลือกที่จะไปตกปลา ตามบ่อตกปลา หรือ ฟิชชิ่งปาร์ค ต่างๆ ที่มีการเลี้ยงปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ไว้บริการ

หมายตกปลาน้ำจืดอีกประเภทหนึ่งที่อาจจะไกลขึ้นมาสักหน่อย ก็จะเป็นพวก อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ ที่มีกระแสน้ำเคลื่อนตัว และ ก็จะมีทั้งปลาเล็กและปลาใหญ่รวมตัวกันอยู่ จำพวก ปลาสวาย ปลากราย ปลากด ปลาตะเพียน ปลากระเบน ปลากระโห้ ปลาเทโพ ปลาสายยู และปลาต่างๆ อีกมากมายหลายชนิดด้วยกัน

ตามหมายตกปลาธรรมชาติต่างๆ นั้น นักตกควรที่จะหาข้อมูลของปลาแต่ละชนิด รวมไปถึงการเลือกใช้เหยื่อ และการจำแนกปลาแต่ละชนิด เวลาเลือกหมายตกปลาแต่ละที่นั้นก็ควรที่จะหาข้อมูลด้วยว่าแต่ละหมายที่ทำการเลือกนั้น มีปลาประเภทใดอาศัยอยู่บ้าง หรือขึ้นชื่อในเรื่องของความชุกชุมปลาชนิดไหน เพื่อที่จะได้มีการเตรียมความพร้อมให้เหมาะสม

วิธีการสังเกตเพื่อที่จะจำแนกชนิดของปลา

ถึงแม้ว่านักตกจะมีการถามข้อมูลจาก คนหาปลาในแถวท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อจะได้ทราบว่า ในหมายที่เราเลือกไปตกนั้นมีปลาชนิดใดอยู่บ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ควรมีการฝึกสังเกตเพื่อที่จะได้จำแนกชนิดของปลาให้ได้อย่างถูกต้อง เผื่อในกรณีที่ไม่สามารถถามหาข้อมูลจากคนในพื้นที่ได้ เผื่อว่าจะได้เลือกใช้เหยื่อได้อย่างเหมาะสม โดยเราจะจำแนกตามการขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อเล่นน้ำของปลา หรือบริเวณที่คิดว่าปลาจะชื่นชอบในการออกมาหากิน เช่น

ปลาสวาย – ชอบอยู่ในบริเวณที่ไม่มีเสียงดัง หากินตั้งแต่หลางแม่น้ำลำคลอง ไปจนถึงบริเวณ พื้นหน้าดิน บริเวณท่าน้ำต่างๆ ชอบเข้ามาหากินเศษอาหารที่ผู้คนถึงแถวบริเวณริมน้ำ และชอบชอบออกมาเล่นน้ำช่วงเวลาเช้ามืด และตอนหัวค่ำ จะกระโดดเล่นน้ำชนิดที่ว่าน้ำแตกกระจายเลยทีเดียว และหากมีขนาดใหญ่มาก เสียงจะดังคล้ายกับคนโยนของหนักลงน้ำเลยล่ะ

ปลากด – หากินตามตอม่อหรือสะพานต่างๆ หรือ ลัดเลาะไปตามผิวหน้าดิน

ปลาตะเพียน – ตกได้ทั่วไป ตามแนวริมตลิ่ง เพราะหากินและอาศัยอยู่ตามริมน้ำ แพหรือท่าน้ำต่างๆ

ปลาตะโกก – ชอบหากินตั้งแต่บริเวณระดับกลางน้ำจนลงไปถึงบริเวณพื้นหน้าดิน และที่สำคัญ พวกมันมีความชื่นชอบการหากินและอาศัยในบริเวณ ตอม่อสะพานต่างๆ เอามากๆ

ปลากราย – ปลาชนิดนี้สังเกตได้ง่ายเพราะพวกมันชื่นชอบที่จะขึ้นมาเล่นน้ำวาดแพนหาง ทำให้ผู้ตกสามารถที่จะเห็นลวดลายจุดสีดำของพวกมันได้อย่างชัดเจน โดยส่วนมากมักจะขึ้นมาแถวบริเวณที่มีตอไม้อยู่ และบริเวณที่ใกล้ตลิ่ง

ปลากระสูบ – ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ และออกหากินในช่วงเช้า โดยส่วนมากจะชอบว่ายไล่ลูกปลาอาหารโปรดของมัน การว่ายของมันนั้นจะมีลักษณะน้ำที่หมุนวนไร้ซึ่งพรายน้ำ

ปลานิล – เวลาหายใจนั้น จะมีพรายน้ำผุดขึ้นมาเรียงกัน 3 เม็ด โดยประมาณและไม่ค่อยขึ้นมาหายใจให้เห็นตัวนัก

ปลายี่สกเทศ – ก่อนที่จะมีแสงแดดแรง ในช่วงตอนเช้า พวกมันมักจะชื่นชอบการขึ้นมาเล่นน้ำ หากอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่สังเกตได้ในช่วงเช้า จะกระโดดเล่นน้ำกันเป็นกลุ่มสังเกตได้ง่าย

ปลาชะโด – มักจะขึ้นมาหายใจทุก 20 นาที หากขึ้นมาให้พบเห็นโดยส่วนใหญ่แล้วจะสังเกตได้ง่าย โดยเฉพาะแม่ปลาที่มักมีลูกตามติดมาเป็นจำนวนมาก

ปลาช่อน – มีการขึ้นมาหายใจทุก 20 นาทีคล้ายคลึงกับปลาชะโด มักขึ้นมาหายใจใกล้ริมฝั่งท่าน้ำ

ปลาหมอ – ชอบที่จะมีการขึ้นมาเล่นน้ำแทบจะตลอดเวลาเลยก็ว่าได้ จะมีการขึ้นและลงเร็วมากในการเล่นน้ำแต่ละครั้ง เป็นปลาที่นักตกปลาพบเจอได้ง่ายตามคูน้ำต่างๆ ไปจนถึงแม่น้ำต่างๆ เลยทีเดียว