วิธีการสังเกต “ปลา” ชนิดต่างๆ ด้วยสายตาของตัวเอง

หากใครเพิ่งเข้ามาสู่วงการนักตกปลาเมื่อไม่นานสักเท่าไหร่นัก คงจะทราบดีว่าการตกปลานั้นหาใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนกับที่คิด เนื่องจากมีหลายสิ่งที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้จนครบถ้วน เพื่อให้การตกปลาของเรามีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ปัญหาสำหรับบรรดาเหล่านักตกปลามือใหม่ทั้งหลาย เชื่อว่าคงจะเป็นการที่เราไม่ทราบถึงชนิดของปลาต่างๆ ในแหล่งน้ำดังกล่าว ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือดูชนิดของปลาไม่เป็นนั่นเอง แต่ทุกสิ่งสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ ด้วยการอัพสกิลวันละนิดวันละหน่อย กระทั่งสั่งสมความรู้จนเต็มเปี่ยมในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นเชื่อเหลือเกินว่าคุณจะเป็นนักตกปลาที่ดีสำเร็จอย่างแน่นอน ดังนั้นต้องลองมาเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการสังเกตชนิดของปลากันแล้ว

ภายในหนองน้ำ หรือบึงแห่งต่างๆ จะเต็มไปด้วยปลากว่าหลากหลายชนิดด้วยกัน ซึ่งหากใครตกปลาอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ คงน่าจะสามารถแยกได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียว แต่ถึงแม้ว่ามือใหม่อย่างพวกเราจะไม่สามารถแยกชนิดของปลาได้ ก็อย่ามัวแต่เป็นกังวลไปเลยจะดีกว่า วันนี้ทางเราจะมาแนะนำวิธีการสังเกตุปลาในแต่ละชนิดให้ทุกคนรู้กัน โดยหนึ่งในเทคนิคที่สามารถสังเกตได้ คือการดูวิธีการแหวกว่ายของปลา ซึ่งทางเรานำข้อมูลเด็ดๆ มาฝากกันเรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ปลาหมอ ปลาสวาย ปลายี่สกเทศ ปลากระสูบ และปลานิล เป็นต้น ใครหมายปองอยากตกปลาเหล่านี้มาให้สำเร็จ จึงไม่ควรพลาดบทความนี้ด้วยประการทั้งปวง

วิธีการสังเกตปลาธรรมชาติชนิดต่างๆ

การตกปลาในทุกๆ ครั้ง ควรรู้ก่อนว่าเราต้องการตกปลาชนิดไหน แต่การสังเกตอาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ ทางเราจึงอยากชวนมาเรียนรู้วิธีการสังเกตชนิดของปลาไปด้วยกัน อันประกอบไปด้วยดังต่อไปนี้

  • ปลาหมอ

“ปลาหมอ” เป็นหนึ่งในปลาอีกชนิด ที่บรรดาเหล่านักตกปลาต่างมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งวิธีการสังเกตปลาดังกล่าวนั้น ถือว่าง่ายมาก เพียงแค่พยายามกวาดสายตาดูตรงบริเวณที่มีน้ำจ๋อมแจ๋ม เพราะปลาหมอมักจะขึ้นมาเล่นน้ำอยู่เสมอ และจะขึ้นลงค่อนข้างเร็วพอสมควร ฉะนั้นเมื่อเจอเป้าหมายแล้วอย่ามัวรอช้า ต้องรีบเหวี่ยงเหยื่อลงไปสู่ผิวน้ำทันที

  • ปลาช่อน

หากใครชื่นชอบการตกปลาเป็นพิเศษ คงน่าจะเคยตก “ปลาช่อน” กันมาบ้างแล้ว โดยคนไทยนิยมนำมาประกอบอาหาร เอาไว้สำหรับรับประทานกันภายในครอบครัว ส่วนวิธีการสังเกตปลาชนิดนี้ ต้องคอยเฝ้าดูประมาณ 20 นาทีด้วยกัน มันจะโผล่ขึ้นมาหายใจในทุก 20 นาที ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ตรงบริเวณร่มเงาริมตลิ่ง คนไหนอยากตกปลาช่อน จึงควรเฝ้าสังเกตแถวๆ ริมตลิ่งอยู่ตลอดเวลา

  • ปลาสวาย

ในส่วนของ “ปลาสวาย” แนะนำให้ออกไปล่าช่วงเช้าๆ หรือก่อนพลบค่ำจะดีกว่า เนื่องจากมันชอบขึ้นมาเล่นน้ำในช่วงเวลาที่กล่าวมา โดยลักษณะการเล่นน้ำจะค่อนข้างโดดเด่น เพราะน้ำจะกระจายแตกตัวออกไปคนละทิศคนละทาง ยิ่งหากเป็นปลาสวายตัวขนาดใหญ่ มันจะเล่นน้ำเสียงดังมาก ราวกับว่ามีคนเอาก้อนหินมาปาลงน้ำเลยทีเดียว จึงนับว่าเป็นปลาอีกชนิดที่สามารถสังเกตได้ง่าย

  • ปลากราย

ใครชอบปลาที่สังเกตไม่ยาก ต้องลองไปตก “ปลากราย” ดูสักครั้ง มันจะชอบแหวกว่ายขึ้นมาอวดรูปโฉมของตัวเอง โดยสามารถมองเห็นจุดสีดำอย่างชัดเจน ส่วนบริเวณพื้นที่การปรากฏตัว อยู่ตรงบริเวณริมตลิ่ง หรือหากลองดูแล้วยังไม่พบเจอ แนะนำให้ดูแถวๆ ตอไม้ภายในน้ำ รับรองเมื่อโอกาสประจวบเหมาะ จะต้องเจอปลากรายอย่างแน่นอน

  • ปลานิล

มาต่อกันด้วย “ปลานิล” ซึ่งคนไทยชื่นชอบรับประทานมาก เป็นปลาที่มักจะถูกนำมาประกอบอาหารอยู่บ่อยครั้ง จึงไม่แปลกหากใครๆ ต่างก็อยากล่าปลาชนิดนี้ แต่ต้องยอมรับว่าการสังเกตุจะลำบากพอตัว เนื่องจากการขึ้นมาหายใจของปลาดังกล่าว จะไม่ค่อยมองเห็นตัวเลย อย่างไรก็ตามสามารถสังเกตได้จากพรายน้ำ ที่ผุดเรียงกันบนผิวน้ำกว่า 3 เม็ดเสมอ ให้สามารถสันนิษฐานได้เลยว่ามีโอกาสเป็นปลานิลสูงมาก

  • ปลากระสูบ

หากต้องการตกปลา อย่าง “ปลากระสูบ” ให้สำเร็จ ขอแนะนำเป็นช่วงเวลาเช้าตรู่ ปลากระสูบจะขึ้นมาไล่ฮุบลูกปลาทั้งหลาย กระทั่งส่งเสียงดังจ๋อมแจ๋ม โดยจะไม่มีพรายน้ำโผล่ แต่ลักษณะของน้ำจะคล้ายๆ กับการหมุนวนไปมา ยิ่งถ้าเกิดเป็นปลากระสูบฝูงขนาดใหญ่ด้วยแล้ว จะส่งเสียงดังคล้ายกับฝนกำลังตกเลยด้วยซ้ำไป

  • ปลายี่สกเทศ

“ปลายี่สกเทศ” หากขนาดตัวยังไม่ใหญ่จนเกินไป มักจะชอบขึ้นมาเล่นน้ำในช่วงเช้า ก่อนแสงแดดจะส่องลงมาสู่ผิวน้ำ แต่ถ้าเกิดมีปลายี่สกเทศเป็นจำนวนหลายตัว พวกมันจะเกาะกลุ่มกันเล่นน้ำอย่างสนุกสนานเลย ซึ่งเมื่อเราอยู่ริมตลิ่งในช่วงเวลานั้นพอดี ก็จะสังเกตเห็นฝูงปลายี่สกเทศในที่สุด

ทุกคนคงทราบดีแล้วว่าในยุคปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจของบ้านเมืองยังไม่ค่อยจะดีสักเท่าไหร่นัก ยิ่งมาเจอกับวิกฤติโควิด-19 ด้วยแล้ว ความยากลำบากเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว การตกปลามาประกอบอาหารด้วยตัวเอง จึงกลายมาเป็นสิ่งที่หลายๆ คนกำลังทำในตอนนี้ โดยหากใครไม่ทราบถึงวิธีสังเกตปลาชนิดต่างๆ ก็สามารถนำวิธีเหล่านี้ลองไปใช้กันได้เลย มั่นใจเหลือเกินว่าวิธีสังเกตทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยทำให้คุณสามารถสังเกตชนิดปลาได้ดียิ่งขึ้น