มือใหม่กับการตกปลาหน้าดินที่ควรรู้

การตกปลาหน้าดิน

เทคนิคการใช้ตระกร้อหน้าดินนั้นเป็นการตกปลาหน้าดินอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมและง่าย แต่การตกปลาหน้าดินนั้นเป็นการตกปลาที่ค่อนข้างจะละเอียดพอสมควร เพราะการตกปลาแบบหน้าดินนั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง ฤดูกาล อุปกรณ์ วิธีการตก การสังเกต เหยื่อ การตกปลาหน้าดินที่แม่นยำและถูกจุดที่สุดนั้นลักษณะหน้าดินที่ดีจะต้องมีลักษณะเป็นหาด น้ำจะต้องไม่มีความลึกมาก ความลึกของน้ำจะต้องไม่เกินประมาณ 2 – 3 เมตร จะเป็นจุดที่ปลานั้นชอบเข้าไปอยู่ในหน้าดิน ไม่ว่าจะขึ้นไปเล่นหรือการหาอาหาร ที่สำคัญการล่อด้วยเหยื่อให้ปลาคุ้นเคยกับอาหารที่เราตกก่อนจะเป็นหนทางไปสู่ชัยชนะ

อุปกรณ์ที่ควรใช้ในการตกปลาหน้าดิน

การตกปลาหน้าดินนั้น นอกจากเราจะต้องมีคันเบ็ดคู่ใจของเราแล้ว ยังต้องมีอุปกรณ์ต่างๆเพิ่มขึ้นมาอีก และการล่อด้วยเหยื่อให้ปลากินนั้นจะต้องมีความสมดุล อย่างเช่นในเรื่องของเอ็นจะต้องมีขนาดประมาณ 20 – 30 ปอนด์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับไซส์ปลาที่เรานั้นหมายหัวไว้ และเอ็นจะต้องมีความเหมาะสมกับคันเบ็ดเราอีกด้วย เอ็นที่มีขนาดเล็กจะช่วยลดความระแวงเบ็ดของปลาที่จะเข้ามากินเหยื่อ และการช่วยในเรื่องของการต้านของกระแสลมได้ดีกว่าเอ็นขนาดใหญ่

ขนาดของตะกั่ว นั้นสำคัญในเรื่องของน้ำหนักตะกั่วถ่วงจะต้องมีน้ำหนักที่พอเหมาะพอควร และพอที่จะถ่วงไม่ให้เอ็นหรือเหยื่อกลิ้งจนสามารถขยับได้ เพราะถ้าเหยื่อขยับได้จะทำให้ปลาที่กำลังจะงับเหยื่อของเรานั้นเกิดการระแวงเหยื่อและทำให้เรารอเก้อหนักกว่าเดิม เพราะทุนเดิมของการตกปลาหน้าดินนั้นก็ต้องอาศัยความอดทนรอพอตัว ในส่วนของกิ๊บนั้น จะต้องไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป ขนาดพอดี ให้เราเน้นไปที่ความทนทานและความแข็งแรงของวัสดุ ตัว ตะกร้อ จะต้องมีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตรถือว่าเป็นขนาดที่พอดี ตัวเบ็ด ที่เราจำเป็นจะต้องใช้จะต้องมีขนาดเบอร์ 10 และจะต้องใช้ตัวเบ็ด 2 ตัว แต่ถ้าปลาตัวใหญ่เราจะต้องเปลี่ยนตัวเบ็ดให้ใหญ่ขึ้นตามไซส์ปลาที่จะตกด้วย

เหยื่อของการตกปลาหน้าดิน

การที่ปลานั้นจะกินเหยื่อของเรา จะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ด้วย เพราะว่าตัวปลานั้นอาจจะไม่ได้ชอบเหยื่อปลาของเราที่เหมือนกันทั้งหมด เหยื่อนั้นเราจะแยกได้ 2 ประเภทหลักๆ คือเหยื่อแบบสดๆ กับเหยื่อแบบหมักนั่นเอง ในส่วนของเหยื่อสดนั้นจะสามารถตกปลาได้ทุกชนิดอยู่ที่ว่าปลาจะกินหรือเปล่า ส่วนเหยื่อที่เป็นแบบหมักนั้น จะมีกลิ่นเปรี้ยวมักใช้ได้ผลกับปลาเช่น ปลายี่สก ในเรื่องกลิ่นของเหยื่อนั้นก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการกินเหยื่อแต่อีกเรื่องที่สำคัญเช่นกันก็คือการผสมเหยื่อด้วย เพราะเหยื่อที่ดีจะต้องไม่นิ่มและไม่แข็งจนเกินไปเพราะถ้านิ่มเกินไปจะทำให้เวลาเหยื่อลงไปในน้ำเหยื่อจะค่อยๆ แตกออก แต่ถ้าเราปั้นเหยื่อแน่นเกินไปปลาก็ไม่กินเหยื่ออีก ทางที่ดีถ้าในกรณีที่เราจะกันเหยื่อแตก จะต้องเพิ่มกากมะพร้าวอบแห้งใส่ผสมเข้าไปในเหยื่อด้วย เพราะกากมะพร้าวแห้งจะช่วยกระจายกลิ่นและการแตกตัวของอาหาร และอาจจะทำให้ปลาเข้ามางับเหยื่อไวขึ้น

การตกปลาหน้าดินที่ถูกวิธี

การตกปลาหน้าดินนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเสมอไป การปล่อยเหยื่อปลานั้นควรทิ้งเหยื่อไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าปลาเล็กไม่เข้ามาตอดหรือเข้ามากวน และถึงแม้เหยื่อจะละลายแตกออกจากตัวตระกร้อ แต่เหยื่อก็ยังคงกองอยู่บนพื้นดิน และยังอยู่จุดเดิมที่ตระก้ออยู่ และโอกาสที่ปลาจะติดเหยื่อของเราก็ยังพอมีโอกาสอยู่เช่นกัน ถ้ากรณีที่ปลาเล็กเข้าติดกินเหยื่อของเรา ให้เราเว้นระยะหย่อนเหยื่อของเรา ประมาณ 1 ชั่วโมง และเปลี่ยนเหยื่อใหม่ ส่วนการที่เรานั้นจะเกี่ยวเม็ดโฟมก็เป็นสิ่งที่จะทำมั่วๆ ไม่ได้ การเกี่ยวเม็ดโฟมนั้น ควรที่จะเกี่ยวให้พอดี ต้องมีขนาดไม่ใหญ่มากถ้าเทียบกับตัวเบ็ด ควรที่จะให้เม็ดโฟมนั้นคอยพยุงเบ็ดให้ตั้งขึ้นมาพอประมาณไม่ต้องสูงเท่ากับความยาวของสาย PE ที่ผูกกับตัวเบ็ด และลองเช็ค ขนาดตัวเบ็ด และการเกี่ยวโฟม ว่าเม็ดโฟมนั้นพยุงตัวเบ็ดดีแล้วหรือยัง จะทำให้เรานั้นสังเกตได้ง่ายตอนปลากินเหยื่อ

นอกจากเราจะเกี่ยวด้วยเม็ดโฟมแล้วเรายังสามารถเกี่ยวไส้ไก่หมัก หรืออาจจะเป็นไส้เดือนได้อีกด้วย เรื่องการเกี่ยวโฟมเมื่อเราพร้อมแล้ว การวางคันเบ็ดก็ถือว่าเป็นเรื่องซีเรียสเหมือนกัน ถ้าเราวางปลายคันเบ็ดสูงเกินไปเวลาลมพัดอาจจะทำให้เหยื่อที่อยู่ในน้ำนั้นขยับและจะทำให้ปลานั้นไหวตัวทันได้ หรือถ้าเหยื่อของเราได้หลุดออกจากเบ็ดแล้วแต่ถ้าเราวางคันเบ็ดไม่ดีแล้วเบ็ดกระตุกอยู่ใต้น้ำจะทำให้ปลานั้นไม่สนใจหรืออาจจะระแวงว่ายหนีไปเลยก็ได้ เรื่องสภาพอากาศก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ต่อการกินเบ็ดของปลาที่เราเล็งเป็นเป้าหมาย ไม่ว่าจะสภาพอากาศ ระดับน้ำ เพราะอาจจะทำให้ปลานั้นอาจจะไม่ออกมาหากินหรืออาจจะออกมาแต่น้อยมาก เราอาจจะต้องอาศัยดวงของวันนั้น หรืออาจจะเลือกสถานที่ที่คิดว่ามีปลาชัวร์ๆ