อันตรายจาก “ตาเบ็ด” ภัยใกล้ตัวที่นักตกปลาอาจพบเจอ

ในช่วงวันหยุดยาวตามเทศกาลต่างๆ เชื่อว่าคงจะเป็นสวรรค์ของบรรดาเหล่านักตกปลาทั้งหลายเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาสำหรับการออกไปล่าปลาที่ตัวเองต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนคงจะเพลิดเพลินจนอาจจะลืมคิดถึงสิ่งต่างๆ ไปชั่วขณะ โดยเฉพาะความปลอดภัยของตัวเราเอง เพราะถ้าเกิดเรามีความประมาทในการตกปลา อุบัติเหตุย่อมมาถึงตัวเราได้อย่างง่ายดายเสมอ แต่วันนี้เราจะมากล่าวถึงอันตรายที่เกิดจาก “ตาเบ็ด” โดยหากใครเป็นนักตกปลาระดับมืออาชีพ หลายๆ คนคงน่าจะเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาบ้างแล้ว จากที่ลองไปสอบถามคนที่เคยโดนตาเบ็ดเกี่ยวมือมาก่อน ต่างบอกตรงกันถึงความเจ็บปวดทรมาน ยิ่งคนไหนโดนเกี่ยวเข้าไปลึกสักหน่อย คงจะเกิดอาการเจ็บปวดจนแทบร้องไม่ออกเลยด้วยซ้ำไป ดังนั้นความระมัดระวัง และการมีสติอยู่ตลอดเวลา จึงถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพื่อป้องกันตัวเองจากการประสบอุบัติเหตุเช่นนี้

หากใครมองว่าการตกปลาเป็นสิ่งไม่อันตรายเลย ขอบอกก่อนว่า “คุณกำลังคิดผิด” เพราะอุปกรณ์สำหรับการตกปลาในหลากหลายชนิด ล้วนแล้วแต่สามารถทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายของเราได้ ยิ่งอุปกรณ์ชนิดไหนมีความแหลมคมด้วยแล้ว สามารถเกี่ยวเข้ากับร่างกายตรงจุดใดๆ ก็ย่อมได้ ระหว่างที่เรากำลังทำกิจกรรมตกปลา จึงควรระมัดระวังตัวเอง และบุคคลรอบข้างด้วย เนื่องจากในตอนที่เรากำลังเหวี่ยงเหยื่อ โอกาสเกิดอุบัติเหตุกับคนรอบข้างจะสามารถเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือควรกันลูกเด็กเล็กแดงออกไปจากตรงบริเวณเหล่านั้น โดยจากที่เคยลองไปสืบๆ มาบ้าง พบเห็นคนจำนวนไม่น้อยถูกตาเบ็ดเกี่ยวเข้ากับร่างกาย ซึ่งเมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว เป็นใครก็ต้องเกิดอาการตื่นตระหนกตกใจบ้างเป็นธรรมดา แต่เราจำเป็นต้องพยายามตั้งสติเอาไว้ก่อน เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาที่อยู่ตรงหน้าได้ ทางเราจึงอยากพามาเรียนรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากเราได้รับอันตรายจาก “ตาเบ็ด” รับรองถ้าเกิดคุณเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เสร็จแล้ว ต้องสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

การนำ “ตาเบ็ด” ออกจากนิ้วมือด้วยตัวเอง

การตกปลาเป็นกิจกรรมที่เราทุกคนควรใช้ความระมัดระวังอย่างสูง เนื่องจากตาเบ็ดคืออุปกรณ์แหลมคม สามารถเกี่ยวเข้ากับส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น มือ แขน ขา หรือแม้กระทั่งใบหน้าก็ตาม ยิ่งหากเกี่ยวเข้ากับดวงตาจะมีความอันตรายสูงมาก อาจทำให้เราสูญเสียการมองเห็นไปตลอดชีวิต แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะเกิดเหตุแบบนี้คงจะเป็นส่วนน้อย อย่างไรก็ดีเราไม่ควรประมาทเด็ดขาด แต่เหตุการณ์ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตรงบริเวณนิ้ว หรือมือ ด้วยความที่ตาเบ็ดจะมาพร้อมกับเงี่ยงอันคมกริบ การดึงออกมาจึงค่อนข้างยากลำบากพอสมควร เผลอๆ เนื้ออาจจะเกิดแผลเหวอะหวะเสียด้วยซ้ำไป ซึ่งถ้าตาเบ็ดเกี่ยวตรงบริเวณนิ้วมือ ให้เราบีบโคนนิ้วเอาไว้สักระยะนึง เพื่อให้เกิดอาการชาๆ ในส่วนนั้น และเมื่อนิ้วเริ่มรู้สึกชาบ้างแล้ว เราต้องรีบดันตาเบ็ดให้พ้นออกมาในทันทีเลย

หลังจากส่วนปลายของตาเบ็ดโผล่ออกมาแล้ว ควรนำคีมตัดสายไฟฟ้าที่ผ่านการชำระล้างด้วยน้ำสะอาด และต้องเช็ดปากคีมด้วยแอลกอฮอล์เป็นอย่างดี มาตัดส่วนปลายของตาเบ็ดทิ้งไป ซึ่งต้องใช้คีมตัดประชิดกับนิ้วมากที่สุด ต่อด้วยการถอนตาเบ็ดออกมาจากนิ้ว แต่ก่อนลงมือจำเป็นต้องทำความสะอาดผิวหนังให้เรียบร้อย รวมถึงเมื่อถอนตาเบ็ดออกมาเสร็จแล้ว ก็ต้องทำความสะอาดแผลของเราด้วย ส่วนคนไหนยังไม่ค่อยมั่นใจในความปลอดภัย แนะนำให้เดินทางไปยังโรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะดีกว่า เพราะหากใครพลาดบางขั้นตอนไปแบบไม่รู้ตัว ก็อาจจะส่งผลให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ ส่วนตัวจึงไม่อยากให้คุณมองข้ามสิ่งเหล่านี้ แม้แผลจะผ่านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมาแล้ว

เดินทางไปรักษาภายในโรงพยาบาล ปลอดภัยที่สุด และเจ็บน้อยกว่า

หากคุณไม่เคยประสบเหตุที่กล่าวมาด้วยตัวเองมาก่อน คงจะไม่ทราบว่าตาเบ็ดเกี่ยวนิ้ว มันมีความเจ็บปวดมากขนาดไหน การนำตาเบ็ดออกมาด้วยตัวเองในหัวข้อที่ผ่านมา นั่นเป็นเพียงกรณีที่เราอยู่ห่างออกไปจากโรงพยาบาล ยกตัวอย่างเช่น กำลังลอยเรืออยู่กลางมหาสมุทร หรือเดินทางไปตกปลายังที่ห่างไกล จนไม่สามารถเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล การลงมือด้วยตัวเองจึงกลายเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยง แม้เราจะต้องทนกับความเจ็บปวดก็ตาม แต่หากเราอยู่บริเวณใกล้ๆ กับโรงพยาบาลอยู่แล้ว อย่าลงมือทำสิ่งนี้เองเลยจะดีกว่า รีบขับรถไปยังโรงพยาบาลทันที เพื่อให้บุคลากรที่เชี่ยวชาญทำการถอดตาเบ็ดออกจากนิ้วของเรา โดยพวกเขาจะมีการใช้ยาชาร่วมด้วย จึงทำให้เรามีอาการชาในระหว่างที่กำลังถอดตาเบ็ดออกจากนิ้ว ซึ่งเราแทบจะไม่มีความรู้สึกอะไรเลยในระหว่างนั้น เพียงแต่หากเรามองพยาบาลทำสิ่งนี้ อาจจะเกิดความรู้สึกทรมานขึ้นมาได้ จึงแนะนำให้มองไปทางอื่นจะเหมาะกว่า โดยส่วนสำคัญที่สุดคืออุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิด ผ่านการฆ่าเชื้อโรคมาดีแล้ว จึงมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน เอาเป็นว่าใครจะเลือกแนวทางไหน ก็คงต้องแล้วแต่สถานการณ์ด้วย หากอยู่ห่างจากโรงพยาบาลจนเกินไป ก็น่าจะต้องลงมือด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยไปเข้าสู่กระบวนการรักษาทีหลัง ส่วนคนไหนสามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ ทางเราขอแนะนำให้รักษาที่โรงพยาบาลทันที